สืบเนื่องจากคุณเกียรติเกริกไกร ใจสมุทร ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ได้ขอสงวนความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เกี่ยวกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ไว้จำนวน 2 ประเด็น คือ
1. ประเด็นเรื่อง การขอให้แก้ไขเพิ่มเติม เรื่องเขตอำนาจศาล โดยคุณเกียรติเกริกไกร ใจสมุทร ได้อภิปรายว่า วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน ผู้ประสงค์อยากเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแต่ไม่ทราบว่าเขตอำนาจศาลคือที่ใด ศาลใด จึงน่าจะแก้ไขบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวว่า ให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องที่ศาลใดก็ได้ แล้วจึงให้ศาลที่รับเรื่องค่อยส่งเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาต่อไป
2. ประเด็นเรื่อง การขอให้แก้ไขเพิ่มเติม เรื่องการให้มีทนายความร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยคุณเกียรติเกริกไกร ใจสมุทร ได้อภิปรายว่า เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน สอดรับกับสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะแก้ไขบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวว่า ผู้ไกล่เกลี่ยจะมีทนายความด้วยหรือไม่ก็ได้ เพราะทนายความถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการระงับข้อพิพาทในชั้นไกล่เกลี่ย ทั้งกรณีก่อนฟ้องคดี และกรณีหลังฟ้องคดี ได้
สุดท้ายที่ประชุมรัฐสภา มีมติลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ผ่านสภาไปได้ทั้งมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ได้เพิ่มเติมข้อความในบทบัญญัติดังกล่าวว่า “ ผู้ไกล่เกลี่ยจะมีทนายความด้วยหรือไม่ก็ได้ ” นั้น ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่